Indie Campfire ย้ายไป ‘ฟังใจ’ – Music Streaming คืออะไร

Indie Campfire ย้ายไป 'ฟังใจ'

Indie Campfire ย้ายไป ‘ฟังใจ’ – ภาพจาก http://www.krishk.com/2013/01/worship-and-the-mumford-generation/

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกคน ทั้งที่ติดตามอ่านอยู่เรื่อยๆและผู้ที่เพิ่งมาพบกับเรา ผมอยากแจ้งให้ทุกท่านทราบว่าผมจะเขียนบทความนี้เป็นบทความสุดท้ายใน Indie Campfire ก่อนจะย้ายการเขียนเนื้อหาใหม่ๆทั้งหมดของผมไปที่แห่งใหม่ ชื่อว่า ‘ฟังใจ – www.fungjai.com และอยากเชิญชวนทุกคนไปติดตามอ่านเนื้อหาที่ผมเขียนที่นั่นแทนนะครับ

ทำไมถึงย้าย?

เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2557 ที่ผ่านมา ผมได้ลาออกจากงานประจำเพื่อมาทำโปรเจ็กต์ใหม่ ชื่อว่า ‘ฟังใจ‘ ซึ่งผมได้รับหน้าที่เป็นทั้งผู้จัดการด้านโซเชียลมีเดีย ผู้จัดการชุมชน และเป็นนักเขียนด้วย (Social Media Manager, Community Manager & Writer) ทำให้ผมยุ่งมากจนไม่มีเวลาที่จะมาเขียนทั้งสองแห่งได้ ตอนแรกผมยังคิดอยากรักษาการเขียนในบล็อก Indie Campfire แห่งนี้ควบคู่ไปกับการทำงานที่ฟังใจ แต่พอคิดไปคิดมา จุดประสงค์ของทั้งสองแห่งนั้นคล้ายกันจนเริ่มผนวกเป็นสิ่งเดียวกันได้ จึงตัดสินใจว่าจะย้ายการเขียนแบบ Indie Campfire ไปอยู่ที่ฟังใจเพียงแห่งเดียว

‘ฟังใจ’ คืออะไร?

คำอธิบาย ‘ฟังใจ‘ สั้นๆสำหรับคนทั่วไปก็คือ “บริการฟังเพลงแบบ Music Streaming ที่มีแต่เพลงอินดี้ไทยเท่านั้น” แต่สำหรับคนที่ทำงานในโปรเจ็คต์นี้และศิลปินดนตรีอินดี้ เราคือ “การเคลื่อนไหวที่จะปฏิวัติวงการดนตรีอินดี้ของไทย”

Music Streaming คืออะไร?

หลายๆคนอาจยังไม่เข้าใจคำว่า Music Streaming ซึ่งผมขอแปลแบบง่ายๆว่า “บริการให้ฟังเพลงผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตแบบไม่ต้องดาวน์โหลดไฟล์เพลง – เป็นการส่งข้อมูลแบบต่อเนื่องเหมือนสายน้ำ (stream) ที่ต่อตรงเข้าสู่อุปกรณ์รับสัญญาณอินเตอร์เน็ตของเรา ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนซึ่งตอนนี้ก็มีผู้ให้บริการในไทยแล้วอย่าง Deezer, KKbox และที่กำลังจะเข้ามาอย่าง Spotify ซึ่งได้จับมือกับค่ายเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือ DTAC, AIS และ True ตามลำดับ

พฤติกรรมการอัพโหลด ดาวน์โหลด และแชร์เพลงอย่างผิดกฏหมายเป็นปัญหาที่แก้ยากมาก ผู้ให้บริการ Music Streaming จึงพยายามแก้ปัญหานี้ด้วยการให้คนได้ฟังเพลงฟรี โดยตนเองรับหน้าที่หารายได้มาจากค่าโฆษณาเพื่อมาจ่ายเงินให้กับเจ้าของเพลง แล้วก็มีทางเลือกในการสมัครและจ่ายค่าสมาชิกเพื่อตัดโฆษณาที่น่ารำคาญออก ฟังเพลงที่มีคุณภาพเสียงสูงกว่าแบบฟรี และสามารถดาวน์โหลดเพลงไว้ฟังโดยไม่ต้องฟังผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตก็ได้

ระบบการฟังเพลงแบบ Music Streaming กำลังเป็นที่สนใจอย่างมาก เป็นเหมือนทั้งทางออกและฝันร้ายของวงการดนตรีในเวลาเดียวกัน ในแง่ทางออกคือเป็นโมเดลการหารายได้จากสังคมที่มีพฤติกรรมการอัพโหลด ดาวน์โหลด และแชร์เพลงอย่างผิดกฏหมาย แม้จะเป็นเงินจำนวนที่น้อยเมื่อเทียบกับยุคที่เทปและซีดีรุ่งเรือง แต่มันก็ยังดีกว่าศิลปินไม่ได้รับค่าตอบแทนอะไรเลย ส่วนฝันร้ายก็คือการทำให้คนมองเห็นคุณค่าของดนตรีลดลงเรื่อยๆ ทำให้เกิดค่านิยมว่าเพลงมันควรจะได้ฟังฟรี ต้องมีคนอื่นเป็นคนจ่ายเงินให้กับศิลปินที่ไม่ใช่คนฟัง ฯลฯ ซึ่งก็มีตัวอย่างของศิลปินที่ไม่ยอมเผยแพร่เพลงของตัวเองผ่านผู้ให้บริการ Music Streaming อย่าง Spotify เช่น Thom Yorke นักร้องนำวง RadioheadColdplay, Black Keys, deadmau5 และ Taylor Swift (คลิกที่ Hyperlink หากผู้อ่านสนใจอยากอ่านเพิ่มเติมนะครับ) เป็นต้น

แต่สิ่งหนึ่งที่ Music Streaming จะให้ประโยชน์กับศิลปิน โดยเฉพาะศิลปินหน้าใหม่เบอร์เล็กๆ ก็คือความเข้าถึงง่าย และความสามารถในการกระจายเพลงของตัวเองไปยังผู้ฟังใหม่ๆได้ง่ายขึ้น เพราะว่าการฟังฟรีทำให้คนฟังไม่ต้องซื้อเพลงก่อนจะได้ฟัง ทำให้พวกเขามีโอกาสฟังเพลงจากศิลปินที่เขาไม่เคยรู้จักมาก่อนได้ง่ายขึ้น ซึ่งก็เป็นเพราะโปรแกรมการคำนวณ (algorithm)ในระบบ Music Streaming ที่พยายามแนะนำเพลงใหม่ๆให้กับผู้ฟังโดยดูจากเพลงที่ผู้ฟังคนนั้นชอบอยู่แล้ว

หากผู้อ่านสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงของวงการดนตรีและสิ่งที่นำพามาสู่ Music Streaming อยากแนะนำให้ลองอ่านบทความสองอันนี้ครับ

‘ฟังใจ’ ใช้งานอย่างไร?

การใช้งานของฟังใจก็จะเหมือนกับ DeezerKKbox และ Spotify ก็คือสามารถฟังเพลงฟรีๆได้ผ่าน mobile application ในมือถือสมาร์ทโฟน หรือ web application ที่ใช้ได้ทั้งบนคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์แบบพกพาอื่นๆ (mobile devices) โดยมีโฆษณาแทรก มีทั้งเสียงโฆษณาหลังฟังจบไป 3-4 เพลง และกราฟฟิกภาพโฆษณาในแบนเนอร์ของเว็บไซต์และในแอ็พฯ และมีทางเลือกในการสมัครและจ่ายค่าสมาชิกเพื่อตัดโฆษณาออก ฟังเพลงที่มีคุณภาพเสียงสูงขึ้น และสามารถดาวน์โหลดเพลงไว้ฟังโดยไม่ต้องฟังผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตก็ได้

รายได้ที่เกิดขึ้นจากค่าโฆษณาและค่าสมาชิก ทางฟังใจก็จะหักส่วนหนึ่งเป็นค่าดำเนินการ แล้วที่เหลือก็จะกระจายจ่ายให้กับเจ้าของผลงานเพลงตามสัดส่วนจำนวนครั้งที่เพลงเขาถูกฟังเมื่อเทียบกับเพลงอื่นๆในช่วงระยะเวลาเดียวกัน (เช่น 1 เดือน)

นอกจากการคัดเลือกเพลงหรือศิลปินใหม่ๆให้กับผู้ฟังผ่านโปรแกรมการคำนวณ (algorithm) แล้ว ฟังใจจะช่วยโปรโมตศิลปินหน้าใหม่ เพลงออกใหม่ พร้อมทั้งให้ข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับดนตรีอินดี้ในเมืองไทยผ่านเว็บไซต์และบล็อกอีกด้วย

ในขณะนี้ (วันที่ 10 สิงหาคม 2557) โปรแกรมการฟังเพลงของฟังใจนั้นยังพัฒนาไม่เสร็จ แต่เราก็กำลังอยู่ในช่วงรวบรวมผลงานเพลงจากค่ายเพลงและศิลปินอิสระ ซึ่งตอนนี้ก็รวมๆเกือบ 200 ศิลปินแล้ว เพื่อให้ทุกท่านสามารถทดลองฟังเพลงผ่านโปรแกรมเวอร์ชั่นทดสอบระบบ web application ภายในปลายเดือนนี้ โดยจะใช้ได้ทั้งบนคอมพิวเตอร์และมือถือสมาร์ทโฟน  จึงขอให้ทุกท่านจงโปรดติดตามและรอใช้งานกันที่ www.fungjai.com ส่วน mobile application สำหรับ iOS และ Android คาดว่าจะพัฒนาเสร็จภายในต้นปีหน้าครับ

ทำไม ‘ฟังใจ’ ต้องมีแต่เพลงอินดี้ไทย?

การเจาะแต่ตลาดเพลงอินดี้ของฟังใจ มีสาเหตุมาจากความต้องการที่จะเจาะจงพัฒนาวงการดนตรีอินดี้ของไทย และเราอยากทำให้คนคิดว่า ถ้านึกถึงดนตรีอินดี้ไทย ต้องนึกถึงฟังใจ” ให้ได้ โดยหวังจะทำ 2 จุดประสงค์นี้ให้สำเร็จ

  1. สร้างพื้นที่และสื่อสำหรับชุมชนของคนทำและฟังเพลงอินดี้โดยเฉพาะ ให้เป็นศูนย์กลางและศูนย์รวมของการฟังเพลง การรับข่าวสารข้อมูลความรู้ รวมทั้งการสื่อสารระหว่างคนในชุมชน ทำให้ทุกคนตระหนักรู้ถึงชุมชนอินดี้อื่นๆทั่วประเทศ และสามารถส่งเสริมและพัฒนาวงการไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น
  2. ยกระดับการแข่งขันของผู้ผลิตดนตรีอินดี้ด้วยการรวมชุมชนให้เป็นกลุ่มก้อนที่แข็งแรง ซึ่งอาจพัฒนาขึ้นเป็นสหภาพหรือสหพันธ์ที่จะช่วยคุ้มครองและต่อสู้เพื่อสิทธิ์ของผู้สร้างผลงานเพลงอิสระเหล่านี้ได้

เรามองว่า Music Streaming เป็นสิ่งที่กำลังมาแรงในวงการดนตรี และเป็นช่องทางที่จะทำให้ดนตรีอินดี้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง จึงอยากใช้มันและเครื่องมือออนไลน์อื่นๆเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่และสื่อสารกับบุคคลทั่วไปให้เกิดความตระหนักถึงวงการดนตรีอินดี้ แล้วขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เป็นระบบมากขึ้น

ปัญหาของวงการดนตรีอินดี้ไทยที่ฟังใจอยากแก้

วงการดนตรีอินดี้ของไทยนั้นยังใหม่และยังไม่แข็งแรงนัก ศิลปินอินดี้ยังไม่สามารถยังชีพได้ด้วยการเล่นและขายเพลงของตัวเองเพียงอย่างเดียวเหมือนอย่างประเทศตะวันตกหลายๆประเทศ นอกจากนี้วงการดนตรีของไทยโดยรวมนั้นถูกครอบครองโดยค่ายเพลงและสื่อยักษ์ใหญ่ไม่กี่เจ้าที่มีอำนาจในการควบคุมพฤติกรรมและรสนิยมการฟังเพลงของคนส่วนใหญ่ได้ ทำให้ที่ยืนสำหรับคนทำเพลงรายเล็กๆนั้นมีน้อยมาก

สื่อเฉพาะสำหรับเพลงอินดี้มีน้อย

คนหลายๆคนอาจคิดว่าต้นเหตุของปัญหาที่ทำให้วงการดนตรีอินดี้ไม่ขยายตัวเป็นเพราะช่องทางของสื่อสำหรับเพลงอินดี้มีจำกัดเกินไป ซึ่งผมก็เห็นด้วยส่วนหนึ่ง แต่ขอยกตัวอย่างของ Fat Radio (ที่ตอนนี้กลายเป็น Cat Radio) ที่แม้จะเป็นเสมือนแกนนำของวงการดนตรีอินดี้ เป็นผู้บุกเบิกและผู้ปฏิวัติวงการ และเป็นสื่อหลักของวงการดนตรีอินดี้ไทย ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร อาจเป็นเพราะเนื่องด้วยขนาดของตลาดดนตรีอินดี้ไทยที่ค่อนข้างเล็ก ส่งผลให้เขาต้องเปิดเพลงตลาดควบคู่ไปด้วยเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ ทำให้เส้นแบ่งระหว่างเพลงตลาดและเพลงนอกกระแสไม่ชัดเจน ซึ่งผลลัพธ์ก็คือการเปลี่ยนแปลงที่ควรจะเกิดขึ้นในวงการดนตรีอินดี้ไม่ครบวงจร ฟังใจจึงคิดว่าสื่อที่ดีไม่ใช่สิ่งเดียวที่จะทำให้วงการดนตรีอินดี้ไทยเจริญได้ แต่ต้องมาแก้ปัญหาที่เกิดจากพฤติกรรมและแนวคิดหลายๆอย่างของคนไทยโดยรวมด้วย

การพัฒนายังไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

วงการดนตรีอินดี้เป็นวงการที่มีโอกาสเจริญเติบโตได้อย่างสูง และสามารถเพิ่มศักยภาพเพื่อไปแข่งขันกับตลาดต่างประเทศได้ แต่เนื่องจากการขาดการสนับสนุนที่ดี และขาดการทำงานไปในทิศทางเดียวกัน (สังเกตได้ว่าศิลปินและค่ายเพลงอินดี้ต่างๆนั้นจะดำเนินงานไปในแนวทางความเชื่อของตัวเอง ซึ่งอาจจะสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับกลุ่มอื่นๆก็ได้) จึงทำให้ไม่สามารถขยายตัวไปถึงจุดนั้นได้อย่างรวดเร็วนัก

แนวทางการแก้ปัญหาแบบ ‘ฟังใจ’

เราคิดว่าการรวมตัวของแกนนำของโปรเจ็คต์นี้ 2 คน คือ ‘ท็อป’ ผู้เป็นหัวหน้าโปรเจ็คต์ และ ‘พาย’ ซึ่งก็คือตัวผมเอง ที่มีแนวคิดต่างกัน น่าจะเป็นส่วนผสมที่ลงตัวในการเปลี่ยนแปลงวงการดนตรีอินดี้ได้เป็นวงกว้างและครบวงจร

ท็อปเป็นคนฟังเพลง จึงอยากสร้างสื่อเพื่อฟังเพลง

ท็อปเป็นคนที่โตมากับการฟังเพลงอินดี้จากสถานีวิทยุ Fat Radio พอได้ไปเรียนต่อและทำงานอยู่ต่างประเทศก็คิดถึงเพลงอินดี้ไทย แต่ก็รู้สึกว่ามันหาฟังค่อนข้างยากและขาดความต่อเนื่องในการฟัง พอเขาได้ใช้บริการการฟังเพลงแบบ streaming ของ Spotify ก็รู้สึกว่าอยากให้ประสบการณ์การฟังเพลงอินดี้ไทยนั้นง่ายแบบนั้นบ้าง ก็เลยเกิดความคิดว่าอยากสร้างระบบการฟังเพลง streaming สำหรับดนตรีอินดี้ไทยโดยเฉพาะ เพื่อให้วงดนตรีอินดี้ไทยดีๆได้ถูกค้นพบและฟังมากขึ้น สร้างรายได้กลับไปสู่ศิลปินเจ้าของเพลงได้บ้างแทนการฟังฟรีแบบผิดกฏหมาย รวมทั้งทำให้เด็กรุ่นใหม่ๆได้มีโอกาสฟังงานดนตรีอินดี้ไทยเก่าๆดีๆได้อีกด้วย

พายเป็นคนทำเพลง จึงอยากสร้างชุมชนคนทำเพลง

ผมเป็นสมาชิกวงอินดี้ ชื่อว่า Cigarette Launcher ซึ่งผมเห็นปัญหาว่าศิลปินอินดี้ไทยเกือบทั้งหมดนั้น ไม่สามารถยังชีพได้ด้วยการเล่นและขายเพลงของตัวเองเพียงอย่างเดียวได้ พอผมได้ไปเรียนต่อที่เมือง Boston ประเทศอเมริกา ผมก็ได้ทำงานต่อในบริษัทที่ทำ web application สำหรับนักดนตรีอินดี้โดยเฉพาะ (www.presskit.to) จึงได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องวงการดนตรีอินดี้ที่นู่น รวมทั้งเทคโนโลยีต่างๆที่เกี่ยวข้อง และอยากนำสิ่งที่เรียนรู้กลับมาพัฒนาวงการดนตรีอินดี้ของไทย โดยสิ่งหนึ่งที่ต้องมุ่งสร้างก็คือความรู้และความสามัคคีเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้ศิลปินในวงการดนตรีอินดี้นั้นยังชีพได้ด้วยดนตรีจริงๆ

ฝาก ‘ฟังใจ’ ไว้ในอ้อมใจด้วยครับ

‘ฟังใจ’ นอกจากการรวมเอาคำว่า ‘ฟัง’ และ ‘ใจ’ มารวมกัน ซึ่งเป็นการสื่อถึง ‘การฟังด้วยใจ’ มันเกิดมาจากการที่มันพ้องเสียงกับคำภาษาอังกฤษว่า ‘Fungi’ ซึ่งหมายถึงพืชในตระกูลเห็ดรา คือเราเปรียบเทียบดนตรีอินดี้นอกกระแสว่ามักจะอยู่ในที่ๆคนทั่วไปไม่รู้จักและมองไม่เห็น เหมือนเห็ดราที่อยู่ตามซอกตามหลืบ เห็ดราเหล่านั้นมีสายพันธุ์ต่างๆมากมายซึ่งมีประโยชน์กับระบบนิเวศน์เหมือนกับแนวเพลงที่หลากหลายของดนตรีอินดี้ และแพร่พันธุ์ทางอากาศด้วยสปอร์ เหมือนกับเสียงเพลงที่แพร่กระจายออกไปทางอากาศ

ฟังใจหวังว่าจะได้ช่วยทำให้เพลงและศิลปินอินดี้ที่อยู่ตามซอกตามหลืบนี้ได้ถูกค้นพบและเป็นที่รู้จักมากขึ้น ได้ช่วยเพิ่มโอกาสทางรายได้ให้กับศิลปินเหล่านั้นให้สามารถทำเพลงใหม่ๆออกมาได้อีกเรื่อยๆ และได้ช่วยเป็นศูนย์กลางการปฏิวัติของวงการดนตรีอินดี้ เพื่อที่จะได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบไปในทิศทางเดียวกัน

สุดท้ายนี้ ฝากทุกคนที่อ่านได้ไปเยี่ยมชมและติดตามอ่านบทความใหม่ๆของผมทาง www.fungjai.com นะครับ นอกจากนี้ยังสามารถไปเยี่ยมชมเพจอื่นๆของเราได้ที่เหล่านี้ครับ

ขอบพระคุณมากๆครับ

พาย

1 คิดบน “Indie Campfire ย้ายไป ‘ฟังใจ’ – Music Streaming คืออะไร

  1. Pingback: งาน “เห็ดผี” เปิดตัวเว็บ Fungjai.com – 30 ต.ค. 2557 | ฟังใจ Fungjai

ใส่ความเห็น